โอ๊ะหมึโชเปอ! ยินดีต้อนรับสู่โครงการหลวงแม่ลาน้อยในป่าใหญ่ๆ
ที่นี่เป็นอีกความเงียบสงบของแม่ฮ่องสอน นอกจากนาขั้นบันไดที่กำลังเป็นสีทอง ดอกบัวตองที่เริ่มบาน ทุกอย่างในป่าสงวนแห่งนี้ก็เขียวชะอุ่ม นึกไม่ออกใช่มั้ยว่าตรงนี้เคยเป็นภูเขาหัวโล้นมาก่อน
…จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินีเสด็จ
- ไปเก็บเมล็ดกาแฟในป่า ชิมสดๆจากต้น คั่วให้หอม แล้วชงให้อร่อย
- ปลูกผักสลัด คัดผักเมืองหนาว
- เดินขึ้นเขาไปตัดขนแกะบนยอดดอย แล้วเอามาทอหมวก
- คุยกับพ่อใหญ่บ้านถึงชีวิตที่รวยความสุข รวยที่ได้กินไข่ต้ม
เรามาถึงตอนบ่ายโมง นาข้าวเขียวขจีที่วาดไว้ในหัวสลายไปหลายวันแล้ว พฤศจิกาทุ่งนาเป็นสีเหลือง ชาวบ้านกำลังช่วยกันเก็บเกี่ยว พอตกเย็น ทั้งแปลงก็หายวับ
ในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระราชินีเสด็จเยี่ยมที่นี่ตั้งแต่สมัยยังแห้งแล้ง เป็นไร่ฝิ่น ไร่เลื่อนลอย ไม่มีแม้แต่ถนนหนทาง
พ่อบุญโสม แกนเจอ ซึ่งเป็นพ่อใหญ่บ้านของเผ่าลั๊วะขาวในตอนนั้นจะตอบคำถามก็ไม่กล้า พูดภาษาไทยยังไม่รู้เรื่องเลย จะเรียกในหลวงว่าอะไรก็ยังไม่รู้ แต่ในหลวงกลับบอกพ่อใหญ่ว่า
“ถ้าไม่รู้จะเรียกอะไร เรียกพ่อหลวง แม่หลวง ก็พอแล้ว”
พ่อใหญ่บ้านถือรูปถ่ายของตัวเองกับในหลวงไว้แน่น นี่เป็นรูปที่พระราชินีทรงถ่ายให้ ส่วนที่ตั้งอยู่บนโต๊ะถัดไปคือรูปพ่อบุญโสมกับพระราชินี รูปนี้ในหลวงทรงถ่ายเอง
“แต่ก่อนหน้าแล้งไม่มีจะกิน ได้แต่เก็บแมงขี้วัวขี้ควายกินไปก็เท่านั้น” พ่อบุญโสมพาเราย้อนกลับไปในอดีต
แต่มาวันนี้พ่อใหญ่เล่าด้วยรอยยิ้มว่ามีไข่ดาวไข่ต้มกินแล้ว.. เราฟังแล้วก็จุกแปลกๆ ไม่เคยเห็นใครพูดถึงไข่ด้วยความสุขแบบนี้มาก่อน อาจเพราะเรารู้ว่าพ่อบุญโสมไม่ได้หมายถึงแค่ไข่ แต่หมายถึงความอยู่ดีกินดีของชีวิตในวันนี้ต่างหาก

พืชและนาขั้นบันไดเข้ามาแทนที่ไร่เลื่อนลอย
“เป็นพ่อใหญ่บ้านต้องเข้มแข็งน้าาา นี่เป็นต้นน้ำบ้านสะเรียงน้าา มันจะไม่ได้เสียแค่บ้านเดียวน้าาา” ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานกำลังใจแก่พ่อบุญโสมในวันนั้น
วันนั้นพระองค์ทรงนำผักผลไม้เมืองหนาวมาให้ชาวบ้านลองปลูก ทั้งอโวคาโด เคปกูสเบอร์รี่ พลัม ผักสลัด วิธีสอนของพระองค์ไม่ใช่คำพูด ไม่ใช่คำสั่ง แต่เป็นการกระทำที่ให้ชาวบ้านได้คิดต่อเอง พอทุกคนเห็นว่าผักผลไม้เมืองหนาวมันได้ราคาดี ดีกว่าฝิ่นตั้งเยอะ ชาวบ้านเค้าก็เลิกทำไร่ฝิ่นกันไปเอง ไม่มีการบังคับ..
“ปลูกผักไม่รวยเลย แต่รวยที่ได้กิน ..อิ่มท้อง” พ่อใหญ่เล่าต่อ
ผักกาดขาวปลี เบบี้ฮ่องเต้ และคะน้าฮ่องกงที่ปลูกในโรงอนุบาลแห่งนี้ พอโตเต็มที่ก็จะถูกส่งมาลงหม้อสุกี้ที่ mk เช่นเดียวกับผักสลัดที่จะถูกส่งเข้าไปสดกรอบกันต่อที่ sizzler
โครงการหลวงจะรับซื้อผักของชาวบ้านเอาไว้ทั้งหมด ซึ่งจริงๆแล้วเมล็ดพันธุ์ก็มาจากการควบคุมของโครงการเอง เพียงแต่กระจายไปให้ชาวบ้านช่วยกันปลูก

มะเขือเทศลูกจิ๋วที่เก็บมาใหม่ ยังเหลืองๆ เขียวๆ อยู่เลย

พริกเม๊กซิกันที่ผ่านเกณฑ์ความงามเข้าสู่รอบต่อไป
ต่อกันที่บ้านห้วยห้อม หมู่บ้านเล็กๆที่ซุกตัวอยู่ในป่าใหญ่
ถนนลาดยางเพิ่งตัดมาถึงหน้าบ้านพวกเค้าเมื่อปีนี้เอง (2016) เห็นบอกได้งบสร้างถนนแค่ปีละ 1-2 โล สมัยก่อนนู้นจะซื้อเกลือทีเลยต้องขี่ช้างออกไปเป็นวันๆ ชาวปกาเกอญอเรียกที่นี่ในภาษาถิ่นว่า ซอติ / ซอปิ แปลว่าผีไก่น้อยที่ชอบไล่คน
พวกเค้าเคยนับถือผี ใครป่วยทีก็ฆ่าไก่ฆ่าหมูถวายผีหมด จนกระทั่งมิชชันนารีนำศาสนาเข้ามา และในหลวงก็ทรงนำวิทยาศาสตร์การเกษตรเข้ามาช่วยเหลือ
ห้วยห้อมก็เป็นเหมือนหลายที่ในภาคเหนือที่เคยเป็นป่าโล้น เราคุยกับชาวเขาที่นี่ เขาเล่าให้ฟังว่า “พอในหลวงเห็น ในหลวงก็เสียใจ” เลยส่งป่าไม้มาช่วยดูแล ส่งต้นยูคาลิปมาให้ปลูก และสอนให้รู้จักขุดบ่อเก็บน้ำ จะได้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดปี สิ่งที่พระองค์นำมาสอนทำให้ทุกอย่างค่อยๆเปลี่ยนไปทีละนิดทีละวัน จากภูเขาหัวโล้นก็ค่อยๆฟูเขียว
มันไม่ใช่แค่เรื่องการฟื้นธรรมชาติแต่มันคือการฟื้นความสุขให้ผู้คน จะเรียกว่าฟื้นคงไม่ถูกนัก เพราะเค้าบอกเราว่ามันเป็นความสุขที่พวกเค้าไม่เคยได้รับมาก่อน
พี่มะลิวรรณพาเดินเข้าป่าไปเก็บกาแฟใต้ร่มเงา กาแฟใต้ร่มเงาคือกาแฟออแกนิคที่ปลูกในป่า เพราะกาแฟชอบอากาศเย็นและความชุ่มชื้น ป่าที่ความสูง 1200-1600 เมตรจากระดับน้ำทะเลจึงเป็นบ้านที่ดีที่สุดของพวกมัน
และเพราะนี่คือกาแฟใต้ร่มเงา! ป่ายิ่งสมบูรณ์กาแฟก็จะยิ่งเติบโตได้ดี ใบหยักๆทางซ้ายมือนั่นแหละคือใบกาแฟ ในหลวงทรงย้ำกับพวกเขาว่า “มีคนต้องมีน้ำ มีคนต้องมีไม้” กาแฟเลยเป็นเหมือนตัวกลางที่ช่วยให้คนบ้านห้วยห้อมรักและถนอมป่า เพราะป่าช่วยถนอมกาแฟแทนพวกเขา
ผลกาแฟอราบิก้าที่เริ่มสุกจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีเขียวจนเป็นสีแดงก่ำพร้อมเก็บ
พวกเค้าจะช่วยกันเก็บด้วยวิธีลงแขกไม่ต่างจากการเกี่ยวข้าว เก็บกันได้ตั้งแต่ พฤศจิกา-กุมภา
พี่มะลิวรรณให้เราลองเก็บผลกาแฟสุกที่เรียกกันว่าเชอร์รี่ เก็บแล้วก็กินมันสดๆเดี๋ยวนั้น นึกว่าจะขมแต่มันกลับหวานชุ่ม
หลังจากเก็บผลกาแฟลูกจิ๋วมาแล้วก็จะเอาไปตำเพื่อกระเทาะให้เปลือกหลุด นำไปล้างให้เหลือแต่เม็ดกาแฟสีขาวๆด้านใน เอาเม็ดกาแฟสีขาวไปตากแดดให้แห้ง แล้วเอามาคั่วๆๆ ก็จะได้กาแฟคั่วหอมๆ
ชาวปกาเกอญอบ้านห้วยห้อมไม่ได้แค่สโลว์ไลฟ์ปลูกเอง คั่วเอง จิบเองไปวันๆ แต่พวกเค้ายังแพคส่งขายทั่วประเทศผ่านทางไลน์ด้วย! และบางส่วน starbucks ก็มารับซื้อไปคั่วเองที่แคลิฟอร์เนีย คั่วๆๆ จนกลายเป็นกาแฟม่วนใจ๋! คุ้นหูกันมั้ย
ที่คุณป้าคั่วให้ดูเมื่อกี๊ ตอนนี้กลายเป็นลาเต้เย็นแล้ว มีคนบอกว่ากาแฟที่นี่หอมเบอร์รี่คล้ายกาแฟเอธิโอเปีย
แอบย่องเข้าไปดูในครัวมา ชาวบ้านกำลังต้มถั่วเน่าควันฉุยเพื่อทำน้ำพริก อาหารเที่ยงของเราเป็นข้าวสวยกับผัดผักง่ายๆ ไข่เจียว ปลาทอด แกงจืดมะระหวาน น้ำพริกหลายชนิด กากหมู และฟักทองนึ่งที่หวานอร่อย
หนังท้องตึงแต่หน้าตาห้ามหย่อน! เดินผ่านดงหมากข้ามเขาอีกซักลูกกัน

ถึงแล้ว ยอดดอยคือบ้านแกะ!
- พอได้เวลาออกหากิน แกะจะถูกปล่อยมาเดินเล่นกินหญ้าตามป่ารกและลาดเขาชันๆ

ถูกอุ้มไปตัดขนแล้ว กิกิ
เนื่องจากชาวบ้านเลี้ยงแกะไว้บนภูเขาสูง ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง จะมาเสียบปลั๊กกล้อนขนก็ไม่ได้ จึงต้องใช้กรรไกรฉับเอาอย่างเดียว
แกะพวกนี้เป็นลูกผสมของแกะพันธุ์ขนจากออสเตรเลียที่พระราชินีพระราชทานให้ชาวบ้าน 20 ตัว เพราะก่อนหน้านี้ชาวบ้านเลี้ยงแกะเนื้อ 5 ตัว พอเอาขนมาทอก็ไม่ไหว ทอไว้นุ่งห่มไม่ได้ เป็นได้แค่ผ้าปูโต๊ะ เพราะขนแกะเนื้อหยาบมาก
ได้ก้อนขนแล้วก็ต้องเอามาตีๆยีๆให้ฟู แต่ยีจนเมื่อยก็ไม่เห็นฟู แถมยังจะขยุกขยุยเกาะกันแน่นกว่าเดิมอีก ยอมแพ้เลย! ขอเนียนข้ามไปที่ขั้นตอนต่อไปเลยดีกว่า 555
ฟูแล้วก็เอามาปั่นเป็นเส้น ทอเป็นหมวก เป็นผ้าพันคอสีขาวนวล อยากได้สีน้ำตาลก็จะเอาไปย้อมด้วยกาแฟ
บ้านห้วยห้อมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหลวง ที่นี่เป็นโฮมสเตย์ จะมาจิบกาแฟสดแบบสดถึงต้น ช่วยเค้าตัดขนแกะ หรือแค่แวะมาซื้อสบู่รกแกะ สบู่กาแฟก็ได้นะ
การเดินทางครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นแม่ลาน้อยในมุมสวยๆหลายมุม ใครมาก็คงเห็นเหมือนกัน แต่ต้องขอบคุณโครงการ walk of the king : เดินทางพ่อ ที่พาเราไปไกลกว่านั้น
3 วัน 2 คืนที่เราได้ลองเอาใจไปเป็นชาวเขา ลองจินตนาการว่าตัวเองต้องเก็บแมงขี้วัวขี้ควายกิน ไม่มีน้ำใช้ ชีวิตผูกกับภัยธรรมชาติ แต่อยู่ดีๆมีคนมาช่วยเนรมิตรทุกอย่าง ป่า น้ำ อาชีพ สุขอนามัย ถามแม้กระทั่งมีส้วมใช้มั้ย แค่ 3 วันแต่มันเปลี่ยนความรู้สึกเราไปหมดเลย
การนั่งดูข่าวในพระราชสำนักอยู่ที่บ้านมันห่างไกลจากเรื่องเหล่านี้มาก เรารักพระองค์ในฐานะศิลปินคนโปรดเพราะตอนเด็กๆนั่นเป็นเรื่องเราที่ได้ใกล้ชิดที่ในหลวงที่สุด แต่พอลองคิดดูว่าแค่มีคนช่วยอะไรเล็กๆซักครั้งคนเรายังซาบซึ้ง แล้วถ้ามีคนมายกระดับคุณภาพชีวิตให้เราทั้งครอบครัว แล้งก็ยังเสกฝนให้ ไม่แปลกใจเลยที่คนแม่ลาน้อยจะรักพ่อหลวงของพวกเขา
เห็นด้วยตา ได้ฟังคำพูดที่ไม่ได้ถูกปรุงแต่งเหล่านี้ด้วยใจ มันเลยสะกิดเราได้ค่อนข้างแรง มันไม่ใช่ความรู้สึกตอนนั่งดูสารคดีอยู่ที่บ้านเลย
อยากลองสัมผัสความรู้สึกนี้ด้วยตัวเองที่ โฮมสเตย์บ้านห้วยห้อม โทรหาพี่มะลิวรรณเลย 089-555-3900
ขอลาไปด้วยภาษาปกาเกอญอที่ฟังดูญี่ปุ่นๆว่า
ซะยื่อนะระแม่ลาน้อย!
SaveSave