Asia, Journey
Comment 1

Iran : Tales of Persia

11864802_886640011404188_9071768288889617813_o

อิหร่าน ประเทศในตะวันออกกลาง ที่สื่อมะกันชอบทำให้ดูน่ากลัวเกินจริง ทั้งๆที่ผู้คนน่ารัก มีอัธยาศัยไมตรีดี รอยยิ้มมีให้เห็นตลอดเส้นทาง ประเทศก็สวยงาม และยังเป็นแหล่งกำเนิดอารยะธรรมโบราณของเปอร์เซีย ที่มีมายาวนานกว่า 2,500 ปี

11222445_886639688070887_5961298312001958236_o

เราเริ่มต้นเดินทางที่เมือง Tehran จากนั้นก็เลือกเดินทางจากเมืองที่อยู่ไกลๆก่อน Shiraz Isfahan Yazd และเมืองสุดท้ายคือเมือง Kashan

แต่ก่อนจะเข้าอิหร่าน เราควรรู้ธรรมเนียมของประเทศเค้าไว้นิดนึง อย่างแรกเลยคือห้ามทักทายจับมือเพศตรงข้าม แล้วถ้าจะชมก็ห้ามยกนิ้วโป้งด้วย (การยกนิ้วโป้งที่นี่เหมือนกับการชูยกนิ้วกลาง) ห้ามดื่มสุรา ห้ามถ่ายรูปสถานที่ราชการ วันหยุดของที่นี่คือวันพฤหัสและศุกร์ และอย่าลืมเตรียมเงินดอลลาร์มาให้พร้อม เพราะที่อิหร่านไม่ใช้บัตรเครดิต และขาออกจากประเทศ ถ้ามีเงินอิหร่านเหลือเค้าไม่รับแลกคืนด้วยนะ

11893813_890122284389294_6435635201737836106_o (1)

พอกัปตันประกาศว่าเครื่องกำลังจะลงจอด ผู้หญิงทุกคนบนเครื่องรีบหยิบผ้ามาคลุมทันที เพราะว่าที่อิหร่านเนี่ย เค้าบังคับให้ทุกคนต้องแต่งตัวมิดชิด ไม่รัดรูป เสื้อผ้าต้องปกปิดแขนและขา เรียกได้ว่าคลุมเกือบทั้งตัว! เหลือแค่มือกับหน้า แม้แต่นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ ก็ไม่มียกเว้น!

เคร่งถึงขนาดผ้าโดนลมใกล้จะหลุดตอนนั่งรถแท๊กซี่ คนขับรีบหันมาบอกให้สวมกลับทันที แล้วถ้าเดินอยู่ตามถนนแล้วผ้าเริ่มหลวมๆ ก็จะมีคนคอยเตือนตลอด!

11875040_890896504311872_272855702804472419_o

ผ้าคลุมผม หรือที่เค้าเรียกว่า “ฮิญาบ” ถือเป็นหนึ่งในแฟชั่นของสาวๆที่นี่ ต้องใช้เวลาออกนอกบ้าน มีหลากสีหลายลาย เน้นความสวยงามมากกว่าการปกปิด แต่ถ้าเป็นสาวรุ่นใหญ่หรือคนที่เคร่งศาสนามากๆ เค้าจะสวม “ชาดอว์” เป็นผ้าสีดำสนิทยาวถึงพื้น ปกปิดทุกอย่างตั้งแต่ใบหู คาง ลำคอ คือ ปิดทั้งตัวนั่นแหละ!

ส่วนผู้ชายห้ามใส่เสื้อกล้าม กางเกงขาสั้นออกนอกบ้านเด็ดขาด!

ตอนแรกเราก็กล้าๆกลัวๆ ไปอิหร่านคนเดียวจะเป็นไรไหม แต่พอมาถึงก็พบว่า คนอิหร่านไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เรามีเรื่องเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับคนที่นี่จะเล่าให้ฟัง

1. ถ้าหลงทางหรืองง ให้หยุดเดิน กางแผนที่ออกมาดู ถึงจะอ่านภาษาเค้าไม่ออกก็เถอะ ไม่กี่วินาทีจะมีคนอิหร่านทั้งหญิงและชายหลายคนมาก มารุมช่วย เป็นอย่างงี้เกือบทุกครั้ง และเกือบทุกเมือง!

2. คนอิหร่านมีธรรมเนียมชวนแขกไปกินข้าวที่บ้าน และคนที่ชวนเราไปคือคนขับรถแท๊กซี่! บ้านเค้ามีรูปปั้นสวยๆเต็มไปหมด แถมภรรยาเค้ายังทำแซนวิชไว้ให้ไปกินระหว่างทางอีกด้วย (โอกาสนี้แหละที่จะได้เห็นว่ารูปร่างหน้าตาเค้าเป็นยังไงกัน เพราะเมื่อเข้าเขตบ้านเค้าจะสามารถถอดผ้าคลุมออกได้ ^^ )

11951602_890901900977999_4083106340722488344_o

3. ผู้ชายคนขวาเป็นนักธุรกิจมาติดต่องานที่เมืองนี้ เค้าพาเรานั่งรถออกไปเที่ยวหมู่บ้านบนเขาออกค่ารถแท๊กซี่ให้หมดเลย เพราะพนักงานที่โรงแรมบอกเค้าว่าเราอยากไปแต่มีเงินไม่พอ ส่วนคุณลุงคนซ้ายคือเจ้าของบ้านในหมู่บ้าน เค้าเปิดบ้านให้ดูว่า เค้านอนกันยังไง ทำกับข้าวกันตรงไหน และชงชาต้อนรับให้ดื่ม ชุดพื้นบ้านของลุงเป็นกระโปรงยาว ก่อนขอถ่ายรูปลุงรีบเดินไปหยิบกระโปรงมาใส่ทันที

จริงๆแล้วไม่ว่าจะที่ไหน ก็มีคนหลายๆแบบปะปนกันอยู่ ต้องดีแค่ไหนถึงจะเป็นคนดี? หรือต้องร้ายแค่ไหนถึงเป็นคนไม่ดี? ไม่มีอะไรขาวหรือดำอยู่แล้ว อย่ามองเหมารวมกันเลย คนที่ไหนจะเป็นยังไง ลองไปสัมผัสเอาเองละกันนะ ;D

11958186_890571687677687_6592458401003105506_o

Masjed-e Vakil คือ Prayer Hall ที่สำคัญของเมือง Shiraz ผู้หญิงต้องสวมผ้าคลุมยาวถึงพื้นก่อนเข้า เค้ามีให้ยืมตรงทางเข้าเลย คุณลุงที่นั้นเล่าให้ฟังว่าที่นี่ศักด์สิทธ์มาก เห็นพื้นที่ใหญ่ขนาดนี้แต่ก็ไม่พอนะ เวลาชาวอิหร่านมารวมตัวสวดมนต์กัน คนคุกเข่ายาวออกไปถึงข้างนอกเลย

11875057_886665421401647_6911068398847551416_o

ถ้าไม่ใช่เมืองหลวง Tehran (เต-หะ-หร่าน) หรือสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ อิหร่านช่วงหลังเที่ยงเราแทบไม่เห็นคนเดินตามท้องถนนเลย ตอนย้ายเมืองวันแรกลงรถบัสมาถึงกับตกใจ ทำไมสถานีรสบัสของเมืองถึงมีแท๊กซี่แค่สองสามคัน มีคนอยู่แค่ไม่กี่คน ยิ่งในเมืองยิ่งแล้วใหญ่ เงียบเหมือนเมืองซอมบี้เลย ร้านอาหาร ร้านขายของชำก็ปิด พอเจอคนทีก็ดีใจมาก รีบเดินตามหลังเค้าไปอย่างไม่รู้ตัว รู้สึกอุ่นใจอยู่บ้างถึงจะไม่รู้จักกันก็เถอะ

11927822_895038353897687_383238358240965895_o

พอพระอาทิตย์ตกเมืองก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง อย่างกับคนละโลกกับเมื่อตอนกลางวัน คนอิหร่านจะออกมาทำงานออฟฟิศ มาเปิดร้านอาหาร มาขายของ แล้วปิดอีกทีตอนสองสามทุ่ม อะไรกันนะที่ทำให้ตอนกลางวันเมืองทั้งเมืองกลายเป็นเมืองร้างได้ขนาดนี้

สาเหตุที่กลางวันแทบไม่มีคน เพราะอิหร่านเป็นประเทศที่ร้อนมากนั่นเอง! ร้อนกว่า 40 องศา ฟ้าที่ีนี่ก็แทบไม่มีก้อนเมฆ ขนาดเราเป็นคนชอบแดดยังรู้สึกปวดแสบปวดร้อนกับอากาศที่นี่ ไทยเรายังร้อนชื้นๆ แต่ที่นี่อากาศร้อนแห้งแล้งไหนจะผ้าคลุมและชุดที่ต้องปกปิดมิดชิดอีก

11953290_897193817015474_4265639397453624566_o

คนอิหร่านสมัยก่อนดับร้อนด้วยสิ่งก่อสร้างมหัศจรรย์นี้ ท้าด้าาา แอร์นั่นเอง! ที่เห็นสูงๆจากตัวอาคารนั่นแหละ มันทำงานในลักษณะง่ายๆ จับลมร้อนเข้าและปล่อยเป็นลมเย็นออกมาทางช่องซี่ๆ ทุกวันนี้ชาวอิหร่านก็ใช้แอร์แบบบ้านเรานี่แหละ แต่ระบบแอร์โบราณแบบนี้ก็ยังคงเหลือให้เห็นอยู่

12001002_897195803681942_2373984950623115429_o

คำว่า Persepolis เป็นภาษากรีก แปลว่า เมืองที่ถูกทำลาย คล้ายกับคำว่า Persaipolis ที่แปลว่า เมืองของชาวเปอร์เซีย ซึ่งเปอร์เซียเป็นชื่อเดิมของประเทศอิหร่าน

เมืองนี้ได้อิทธิพลมาจากเมโสโปเตเมียและกรีก ที่นี่หินแต่ละก้อนใหญ่ๆทั้งนั้น ตามเสาตามประตูต่างๆ จะมีสัตว์ในเทพนิยายเฝ้าอยู่เต็มไปหมด อย่างหัวเสานี้ ตัวเป็นสิงโตแต่หัวเป็นนก

Persepolis เราได้ยินคำนี้ครั้งแรกจากการ์ตูนเรื่อง Persepolis เกี่ยวกับชีวิตหญิงสาวชาวอิหร่านที่ย้ายไปอยู่ฝรั่งเศสหลังจากเกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ มีสร้างเป็นหนังด้วยนะ ค่อนข้างดังทีเดียว หลายๆประเทศชื่นชม แต่กลับโดนแบนห้ามฉายที่ประเทศตัวเองซะงั้น

พอได้มาถึงเมืองโบราณนี้จริงๆ ก็รู้สึกดีกว่าที่เคยคิดไว้ ถึงแม้เมืองจะถูกทำลายไปเยอะเหมือนกัน แต่ด้วยโครงสร้างที่ใหญ่โต ร่องรอยที่เหลือก็เลยพอทำให้เห็นได้ว่า ตรงไหนเคยเป็นอะไรมาก่อน

12113414_910708085664047_807677214337349119_o

แต่ก่อนที่นี่มีขนาดมโหฬาร กำแพงสูงประมาณตึก 5 ชั้น ลองคิดว่าต้องใช้เวลาในการก่อสร้างนานแค่ไหน เพราะโครงสร้างส่วนใหญ่สร้างจากการค่อยๆ เซาะๆ ภูเขาให้กลายเป็นบันได เป็นพื้นขึ้นมา

แต่เมืองนี้รุ่งเรืองอยู่ 150 กว่าปีก็ล่มสลาย พระราชวังถูกเผาทำลายในสงครามตอนที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์เข้าตี ไม่ว่าจะหัวเสาของมีค่าต่างๆ ถูกท่านอเล็กซานเดอร์ลอกออกไปหมด เหลือแต่ซากอย่างที่เห็นเนี่ยแหละ

11880657_889209461147243_4580549362509116734_n

Yazd เป็นเมืองที่แห้งแล้งที่สุดในอิหร่าน (สังเกตุได้เกือบทุกบ้านจะมีระบบแอร์แท่งๆอยู่) และยังตั้งอยู่กลางหุบเขา ห่างไกลจากทะเล แถมยังถูกโอบล้อมด้วยสภาพแวดล้อมที่ทรหด ทำให้เมืองรอดปลอดภัยจากสงคราม

เมืองนี้จึงเป็นหนึ่งในเมืองที่ยังคงสภาพสถาปัตยกรรม ในพื้นที่แถบทะเลทรายไว้ได้ดีที่สุดอันดับต้นๆของโลก

12087837_909489412452581_1402784298381650990_o

หมู่บ้าน Abyaneh หรือหมู่บ้านสีแดง เป็นหนึ่งในสี่ของหมู่บ้านที่ UNESCO ลงทะเบียนว่าเก่าแก่ที่สุดในอิหร่าน อายุเป็นพันปี สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์คือโครงสร้างของหมู่บ้าน

บ้านแต่ละหลังจะถูกสร้างเรียงซ้อนตามสันเขา หลังคาบ้านเราอาจจะกลายเป็นลานบ้านคนอื่นได้ บ้านทุกหลังจะหันหน้าไปทางทิศเดียวกันเพื่อให้ได้รับแดดมากที่สุด เพราะหน้าหนาวที่นี่จะหนาวมาก!

12132541_909490099119179_2108418148904093131_o

บ้านแต่ละหลังจะถูกสร้างจาก ไม้ ฟาง ดิน หรือวัตถุดิบที่หาได้แถวนั้น ตัวกำแพงถูกสร้างจากอิฐโคลน มีความพิเศษตรงที่ตัวโครงสร้างจะยิ่งแข็งแรงขึ้นเมื่อฝนตกใส่

หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านเล็กๆมีน้อยกว่าสองร้อยครอบครัว บ้านบางหลังก็มีสลักชื่อหรือกลอนไว้ตรงประตูด้วยนะ น่ารักดี

12132566_911057945629061_1549801327490675258_o

มาถึงวันสุดท้าย ที่นี่เปลี่ยนความคิดเราที่เคยมีกับประเทศอิหร่านไปหมดเลย เห็นบรรยากาศร้อนๆแห้งแล้งแบบนี้ แต่การเดินทางระหว่างเมืองที่นี่สะดวกมาก มีทั้งรถไฟความเร็วสูง รสบัสติดแอร์และสายการบินในประเทศที่ตรงเวลา ที่พักก็ดี ค่าครองชีพไม่แพง อาหารอร่อยกินง่าย

10272469_909491445785711_4964664566670731379_o

สุดท้ายนี้ ค่าใช้จ่ายที่นี่ถูกกว่าที่คิดไว้มาก ทำให้เราสามารถที่จะซื้ออาหาร ขนม หน้าตาแปลกๆมาลองแบบไม่ต้องคิดมาก แถมทริปนี้ยังได้นอนห้องส่วนตัวของโรงแรม 3-4 ดาวอีกด้วยจากที่ปกตินอนแต่ห้องรวมโฮสเทล ส่วนค่าเครื่องบินเรานั่งไปจากจอร์เจีย ใครนั่งจากไทยอย่าลืมไปบวกค่าเครื่องบินเพิ่มด้วยนะ

ด้วยความที่อิหร่านถูกแบนจากหลายๆประเทศยักษ์ใหญ่ ของกินของใช้แบรนด์ดังๆที่ต้องนำเข้าจึงมีให้เห็นน้อยมาก (ที่จำได้เห็นแค่คิทแคทอันเดียว) ทำให้อิหร่านคงความเป็นตัวเองไว้ได้อย่างชัดเจน ถือเป็นเสน่ห์อย่างนึงเลย ไหนจะบ้านเมืองที่สวยงามแปลกตา คนท้องถิ่นที่ยังเคอะเขินกับนักท่องเที่ยว รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ ทำให้อิหร่านน่าสนใจเข้าไปอีกเท่าตัว

จากตอนแรกที่กลัวๆ ตอนนี้กลายเป็นประเทศในดวงใจไปแล้ว ถ้าใครมีโอกาสอยากให้ลองไปนะ เป็นแค่ไม่กี่ประเทศในตะวันออกกลางที่คนไทยขอ Visa on arrival ได้ ^^

ส่วนค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดอ่านต่อได้ในนี้นะ :)  Iran – Budget

1 Comment

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s